รูปแบบการจัดการศึกษาภาษาจีนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

รูปแบบการจัดการศึกษาภาษาจีนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา

        สุคนธา  อรุณภู่
             นักศึกษาดุษฎีบัณฑิต  สาขาการจัดการการศึกษา
                                วิทยาลัยครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

บทนำ
                จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเทศไทยและประเทศจีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งมีจำนวนมากที่สุด  การศึกษาของชาวจีน  ภาษาจีนในประเทศไทยจึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับการอพยพสู่แผ่นดินไทย เหตุจูงใจของการเรียนการสอนภาษาจีนในยุคแรกเกิดจากความต้องการที่จะให้บุตรหลานของพวกเขาสืบทอดภาษาและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ  โดยการจ้างครูมาสอนตามบ้าน สอนตามศาลเจ้า หรือการส่งบุตรหลานไปเรียนต่อที่ประเทศจีน
                ในระยะเวลาต่อมา เมื่อสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยและจีนเปลี่ยนไป  ยังผลต่อวิวัฒนาการการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย มีทั้งช่วงที่รุ่งโรจน์และช่วงที่อับเฉา โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์  การเรียนการสอนภาจีนในประเทศไทยถูกบีบคั้นและจับตามองอย่างใกล้ชิด  ผู้ที่เรียนภาษาจีนถูกมองว่าเป็นพวกที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งใน   ปี ค.ศ.1975 หรือพุทธศักราช 2518  ประเทศไทยและประเทศจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้น  การเรียนการสอนภาษาจีนจึงได้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง  จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1992 หรือพุทธศักราช 2535 การเรียนการสอนภาษาจีนได้รับอนุญาตให้ดำเนินการได้อย่างเสรีเหมือนกับภาษาต่างประเทศอื่น ๆ และเมื่อบทบาทของจีนในสังคมโลกทวีความสำคัญยิ่งขึ้น  ทำให้รัฐบาลไทยหันมาให้การส่งเสริม การเรียนการสอนภาษาจีนอย่างจริงจัง (รณพล  มาสันติสุข. 2551)

รูปแบบการจัดการศึกษา
                สำหรับรูปแบบการจัดการศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยนั้น ก่อนอื่นต้องขอทำความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องต่อไปนี้ คือ ความหมายของรูปแบบ  ประเภทของรูปแบบ  และกระบวนการพัฒนารูปแบบ 
ความหมายของรูปแบบ
               นักวิชาการ ได้ให้ความหมายของรูปแบบทั้งในลักษณะที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ซึ่งพอจะสรุปความหมายของรูปแบบที่นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไว้ได้ใน 4 ลักษณะกล่าวคือ
             1. รูปแบบ หมายถึง รูปแบบของจริง รูปแบบที่เป็นแบบอย่าง และแบบลำลองที่เหมือนของจริงทุกอย่างแต่มีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
             2. รูปแบบ หมายถึง สิ่งที่แสดงโครงสร้างของความเกี่ยวข้องระหว่างชุดของ ปัจจัยหรือตัวแปรต่าง ๆ หรืองค์ประกอบที่สำคัญในเชิงความสัมพันธ์หรือเหตุผลซึ่งกันและกัน เพื่อช่วยเข้าใจข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ
             3. รูปแบบ หมายถึง ลักษณะที่พึงปรารถนาซึ่งมีลักษณะเป็นอุดมคติ หรือเกิดได้ยากในโลกของ       ความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เราอยากได้กับความสามารถที่จะหาสิ่งที่ต้องการนั้นแตกต่างกันมาก เช่น เมืองในอุดมคติ
             4. รูปแบบ หมายถึง ชุดของทฤษฎีที่ผ่านการทดสอบความแม่นตรง (validity) และความน่าเชื่อถือ (reliability) แล้ว สามารถระบุและพยากรณ์ความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวแปรโดยวิธีการทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติได้ด้วย (http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=6036.0;wap2)

ประเภทของรูปแบบ
รูปแบบมีหลายประเภทด้วยกันซึ่งนักวิชาการด้านต่าง ๆ ก็ได้จัดแบ่งประเภทต่างกันออกไป สำหรับรูปแบบทางการศึกษาและสังคมศาสตร์นั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ (Keeves, 1988, pp. 561-565)
1. Analogue Model เป็นรูปแบบที่ใช้การอุปมาอุปมัยเทียบเคียงปรากฏการณ์ซึ่งเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เป็นนามธรรม เช่น รูปแบบในการทำนายจำนวนนักเรียนที่จะเข้าสู่ระบบโรงเรียน ซึ่งอนุมานแนวคิดมาจากการเปิดน้ำเข้าและปล่อยน้ำออกจากถัง นักเรียนที่จะเข้าสู่ระบบเปรียบเทียบได้กับน้ำที่เปิดออกจากถัง ดังนั้นนักเรียนที่คงอยู่ในระบบจึงเท่ากับนักเรียนที่เข้าสู่ระบบลบด้วยนักเรียนที่ออกจากระบบ เป็นต้น
2. Semantic Model เป็นรูปแบบที่ใช้ภาษาเป็นสื่อในการบรรยายหรืออธิบายปรากฏ การณ์ที่ศึกษาด้วยภาษา แผนภูมิ หรือรูปภาพ เพื่อให้เห็นโครงสร้างทางความคิด องค์ประกอบ และความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของปรากฏการณ์นั้น ๆ เช่น รูปแบบการสอนของ Joyce and Weil (1985, p. 41) เป็นต้น
3. Mathematical Model เป็นรูปแบบที่ใช้สมการทางคณิตศาสตร์เป็นสื่อในการแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ รูปแบบประเภทนี้นิยมใช้กันทั้งในสาขาจิตวิทยาและศึกษาศาสตร์ รวมทั้งการบริหารการศึกษาด้วย
4. Causal Model เป็นรูปแบบที่พัฒนามาจากเทคนิคที่เรียกว่า Path Analysis และหลักการสร้าง Semantic Model โดยการนำเอาตัวแปรต่าง ๆ มาสัมพันธ์กันเชิงเหตุและผลที่เกิดขึ้น เช่น The Standard Deprivation Model ซึ่งเป็นรูปแบบที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของบิดา มารดา สภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่บ้าน และระดับสติปัญญาของเด็ก เป็นต้น
จากที่กล่าวมาแสดงว่า รูปแบบมีหลายประเภทด้วยกัน ในแต่ละสาขาก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น รูปแบบทางการศึกษาและสังคมศาสตร์ ได้แบ่งออกเป็น รูปแบบที่ใช้การอุปมาอุปไมยเทียบเคียงปรากฏการณ์ซึ่งเป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เป็นนามธรรม รูปแบบที่ใช้ภาษาเป็นสื่อในการบรรยายหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่ศึกษาด้วยภาษา แผนภูมิ รูปภาพ รูปแบบที่ใช้สมการทางคณิตศาสตร์เป็นสื่อในการแสดงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ และรูปแบบที่นำเอา  ตัวแปรต่าง ๆ มาสัมพันธ์กันเชิงเหตุและผลที่เกิดขึ้น เป็นต้น (http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=6036.0;wap2)
               
การพัฒนารูปแบบ
จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบพบว่า การพัฒนารูปแบบนั้นอาจจะมีขั้นตอนในการดำเนินงานแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปแล้วอาจจะแบ่งออก เป็นสองตอนใหญ่ ๆ คือ การสร้างรูปแบบ (Construct) และการหาความเที่ยงตรง (Validity) ของรูปแบบ (Willer, 1967, p. 83) ส่วนรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนว่ามีการดำเนินการอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะและกรอบแนวคิดซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบนั้น ๆ ตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบ ได้แก่
การพัฒนารูปแบบตามแนวทางการศึกษาของ รุ่งรัชดาพร  เวหะชาติ (2548, หน้า 92-93) ได้พัฒนารูปแบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์การของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมุ่งศึกษาการพัฒนารูปแบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์การของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งในการศึกษามีรายละเอียดในการดำเนินการ 5 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการบริหารคุณภาพทั้งองค์การ โดยสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่ได้รับเลือกเป็นโครงการนำร่องการวิจัยและการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาสภาพจริงจากรายงานการประเมินตนเองของโรงเรียนที่ผ่านการประเมินคุณภาพ
ขั้นตอนที่ 2 เป็นการสร้างรูปแบบจำลองเพื่อสร้างรูปแบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์การโดยการสังเคราะห์แบบสัมภาษณ์จากการศึกษาในขั้นตอนที่ 1 นำมาสร้างเป็นรูปแบบจำลองระบบบริหารคุณภาพทั้งองค์การด้วยการสร้างเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิแบบเลือกตอบ เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้ผู้ทรงคุณวุฒิแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ
ขั้นตอนที่ 3 เป็นการพัฒนารูปแบบระบบบริหารคุณภาพทั้งองค์กรโดยใช้เทคนิคเดลฟายจากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ได้รูปแบบที่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยการใช้รูปแบบจำลองจากขั้นตอนที่ 2 นำมาศึกษาวิเคราะห์ และกำหนดรูปแบบระบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์การด้วยเทคนิคเดลฟาย 3 รอบ
ขั้นตอนที่ 4 การวิเคราะห์หาความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์การ เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบโดยผู้ปฏิบัติงานในสถานศึกษาคือผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน และกรรมการสถานศึกษา
ขั้นตอนที่ 5 การสรุปและนำเสนอรูปแบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์กรและจัดทำเป็นรายงานผลการวิจัยต่อไป
จากการศึกษาวิเคราะห์ในเรื่องนี้พอสรุปได้ว่าการสร้างรูปแบบ (Model) นั้นไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัวแน่นอนว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่โดยทั่วไปจะเริ่มต้นจากการศึกษา องค์ความรู้ (Intensive Knowledge) เกี่ยวกับเรื่องที่เราจะสร้างรูปแบบให้ชัดเจน จากนั้นจึงค้นหาสมมุติฐานและหลักการของรูปแบบที่จะพัฒนา แล้วสร้างรูปแบบตามหลักการที่กำหนดขึ้น และนำรูปแบบที่สร้างขึ้นไปตรวจสอบความเหมาะสมและหาคุณภาพของรูปแบบต่อไป ส่วนการพัฒนารูปแบบมีการดำเนินการเป็นสองตอนใหญ่ คือ การสร้างรูปแบบและการประเมินความเหมาะสมและการหาคุณภาพของรูปแบบ


การจัดการศึกษา         
                การศึกษา ตามความหมายกว้าง หมายถึง กระบวนการทางสังคมที่นำบุคคลเข้าสู่การดำรงชีวิตในสังคม หรืออาจกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นกระบวนการอบรมบ่มนิสัยให้มนุษย์สามารถประพฤติปฏิบัติตนและประกอบอาชีพการงานร่วมกับมนุษย์อื่นๆได้อย่างเหมาะสม  การศึกษาตามความหมายนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญของการอบรมบ่มนิสัย การกล่อมเกลาทางสังคม การเตรียมตัวเพื่อให้บุคคลมีทักษะ ความรู้ ความสามารถในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพในอนาคต เป้าหมายของการศึกษาดังที่กล่าวนี้ มิใช่เพียงเพื่อประโยชน์ของคนแต่ละคนเท่านั้น แต่ต้องมุ่งไปสู่สังคมในภาพรวม คือการนำไปสู่สังคมที่เข้มแข็ง มีเอกภาพ อันเนื่องมาจากสมาชิกของสังคมมีคุณภาพและร่วมสร้างประโยชน์ให้กับสังคมที่ตนอยู่อาศัย จึงถือได้ว่าครูเป็นคนสำคัญในการสร้างเยาวชนที่ดีและสร้างอนาคตของประเทศ และหากผลผลิตทางการศึกษาไม่มีคุณภาพ ครูก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่เป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง สะสมพลังของชาติ ชาติใดมี ทุนทางสังคมแข็งแกร่ง มีคุณภาพดีมากน้อยเพียงใด มีปริมาณมากแค่ไหน ย่อมขึ้นกับคุณภาพของระบบการศึกษา (ชัยอนันต์  สมุทวณิช .2542)
         โดยสรุป การศึกษาเป็นกระบวนการให้และรับความรู้และประสบการณ์ การปรับเปลี่ยนทัศนคติ   การสร้างจิตสำนึก การเพิ่มพูนทักษะ การทำความเข้าใจให้กระจ่าง การอบรมปลูกฝังค่านิยม การถ่ายทอดศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมของสังคม การพัฒนาความคิด โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บุคคลมีความเจริญงอกงามทางปัญญา มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีค่านิยมที่ดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข  กระบวนการดำเนินการให้มนุษย์ได้รับการศึกษานี้ หากรัฐยังไม่เข้ามาดูแล ก็เป็นเรื่องที่คนใกล้ชิด เช่น ครอบครัวหรือญาติมิตรเพื่อนฝูงทำหน้าที่อบรมสั่งสอนกันเอง เพื่อให้ผู้รับการอบรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคมขนาดย่อมนั้นได้  แต่เมื่อสังคมขยายตัวมากขึ้นจนปัจจุบันกลายเป็นสังคมระดับประเทศ การให้การศึกษาต้องเป็นไปอย่างระบบต้องมีการจัดการ มีเป้าหมาย มีรูปแบบกระบวนการ มีการลงทุน และมีผู้รับผิดชอบ ดังที่เราเรียกโดยรวมว่า การจัดการศึกษา คือ ทำทุกอย่างอย่างเป็นระบบที่ทุกส่วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
                คำว่า การจัดการ นั้นเป็นคำรวมที่ครอบคลุมการดำเนินการบางสิ่งบางอย่างโดยมีเป้าหมายที่มุ่งบรรลุอย่างชัดเจน มีการกำหนดรูปแบบกระบวนการ มีการจัดองค์การ มีการมอบหมายผู้รับผิดชอบชัดเจน มีการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ ผู้ดำเนินการ เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้เกิดผลตามเป้าหมายที่กำหนด กระบวนการทั้งหมดนี้คือการจัดการ ซึ่งต้องกระทำอย่างเป็นระบบ มีแผน มีเป้าหมาย มีผู้รับผิดชอบ และมีเครื่องมือกลไกที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ ทั้งนี้ การจัดการศึกษาก็คือกระบวนการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา
                ในกระบวนการจัดการศึกษานี้ มีบุคคลหลายคนและหลายหน่วยงานเข้ามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พรรคพวกเพื่อนฝูงญาติมิตร ชุมชน ประชาคม เอกชน สื่อมวลชน วัด โรงเรียน และที่สำคัญมากคือรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย  สังคมที่มีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีการประกอบอาชีพหลากหลาย เนื้อหาของการศึกษายิ่งต้องมีความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันการจัดการศึกษาก็ต้องมุ่งธำรงรักษาเอกภาพร่วมกันของสังคมไว้ด้วย  สาระของการศึกษาจึงต้องครอบคลุมทั้งเรื่องวิถีการดำรงชีวิต การประพฤติปฏิบัติตน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ประสบการณ์และความเป็นไปของสังคมในอดีต ปัจจุบัน และที่จะไปสู่อนาคต รวมทั้งเรื่องความรู้ ความเข้าใจและเทคนิควิธีการประกอบอาชีพ
                การจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการหรือในระบบ ส่วนใหญ่จัดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ปลูกฝังทักษะ ความรู้ และค่านิยมแก่ผู้เรียน แต่โรงเรียนหรือสถานศึกษาก็ไม่ใช่เป็นช่องทางเดียว ในโลกที่พัฒนาการด้านสื่อและเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว การจัดการศึกษาสามารถทำได้อย่างหลากหลาย เพื่อสอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะแต่ละกลุ่ม เช่น การศึกษานอกโรงเรียน การจัดการศึกษาในครัวเรือน การจัดการศึกษาโดยชุมชน การศึกษาทางไกลผ่านสื่อประเภทต่างๆ เป็นต้น
                การจัดการศึกษาในภาพรวมเป็นเรื่องที่สังคมและผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาทุกระดับต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดขึ้นได้ บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล  (http://www.moe.go.th/wijai/principle%20edu.htm)

ความสำคัญของภาษาจีน
                ตอนนั้น ข้าพเจ้าเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่าจะเลือก เรียนภาษาเยอรมัน แต่สมเด็จแม่ได้รับสั่งว่า เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนเป็นภาษาตะวันตก คิดว่าน่าจะเรียนภาษาจีน ภาษาจีนเป็นภาษาประเทศตะวันออก คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์มากกว่า ข้าพเจ้าคิดว่าการเลือกเช่นนี้ถูกต้อง
                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเล่าพระราชทานให้ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอฟังถึงสาเหตุที่เลือกเรียนภาษาจีน ว่าเป็นข้อเสนอของสมเด็จแม่ (สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ)
ทำให้เห็นว่าแม้แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเห็นความสำคัญของภาษาจีนเป็นอย่างยิ่ง
                นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ ประเทศจีนจะเป็นประเทศที่มั่งคั่งเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างแน่นอน เพราะประเทศจีน มีการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างมาก ยกเว้นทางการเมือง ซึ่งยังคงสภาพเหมือนเดิม เนื่องด้วยเพราะจีนมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประมาณ 1,400 ล้านคน(http://chinavizpark.com/Chinaviz_Mag.pdf)

นโยบายการส่งเสริมการจัดการศึกษาภาษาจีนในประเทศไทย
                สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(http://blog.eduzones.com/applezavip/32036) ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของภาษาจีน จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนขึ้น เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจ - ความรู้ รองรับการดำเนินงาน ซึ่งตามแผนมีเป้าหมายให้ประชาชนไทยอย่างน้อย 500,000 คน มีความรู้ภาษาจีน สามารถสื่อสาร แสวงหาความรู้และใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพได้ มีสถานศึกษาเปิดสอนภาษาจีนมากขึ้นทุกระดับ และภายในปี 2555 สถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐานทุกแห่งจะเปิดโปรแกรมสอนภาษาจีน ในช่วงชั้นที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4 สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนโดยย่อ มีดังนี้
                ยุทธศาสตร์ที่ 1 รณรงค์สร้างความตระหนักและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนอย่างกว้างขวาง โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะเร่งด่วน และระยะปานกลางเพื่อส่งเสริมภาษาจีนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ นักเรียน นักศึกษา และผู้อยู่ในวัยแรงงานสามารถใช้ภาษาจีนเพื่อการสื่อสารได้
ยุทธศาสตร์ที่ 2 จักทำมาตรฐานหลักสูตรและทางการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนในแต่ละระดับประเภทของการศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาแต่ละประเภท แต่ละระดับ ปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งกำหนดนโยบายเรื่องการใช้อักษรจีนต่อยอดในหลักสูตร
                ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและพัฒนาสื่อสารการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของจีน จัดทำหนังสือเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรไทย และจัดหาสื่อการเรียนภาษาจีนที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรในระยะเริ่มแรก และระยะต่อมาจะส่งเสริมและสนับสนุนให้สำนักพิมพ์ในประเทศไทยผลิตหนังสือเรียนและสื่อความรู้เอง หรือผลิตหนังสือร่วมกับสำนักพิมพ์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
                ยุทธศาสตร์ที่ 4 วางระบบพัฒนาครูสอนภาษาจีนในระยะสั้นและระยะยาวให้ได้มาตรฐาน โดยเริ่มจากการสำรวจสภาพปัจจุบันและข้อมูลเกี่ยวกับครูความต้องการของครูที่ต้องการพัฒนาในระดับต่างๆ และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาครูเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน และระยะต่อมาจะกำหนดมาตรฐานครูโดยเทียบเคียงและปรับใช้ระบบการอบรมและการทดสอบมาตรฐานการสอน (เจี้ยวซือจือเก๋อเจิ้งซู) ซึ่งเป็นมาตรฐานครูสอนภาษาจีนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สอนภาษาจีนให้แก่ชาวต่างประเทศ กำหนดระดับความรู้ขั้นต่ำของครูผู้สอนภาษาจีน โดยใช้ HSK (Hanyu Shuiping Kaoshi) ไม่ต่ำกว่าระดับ 5 สำหรับครูที่สอนระดับประถมศึกษา รวมทั้งพัฒนาครูประจำการผู้สอนภาษาจีนอย่างสม่ำเสมอ เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาต่อ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับครูไทยที่มีผลการศึกษาดีเด่น รวมทั้งส่งเสริมการผลิตและสร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรรุ่นใหม่
                ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมความร่วมมือและสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย โดยการทำผังความคิด โรงเรียนที่สอนภาษาจีนในประเทศไทยเพื่อกำหนดพื้นที่ที่ควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมเป็นกรณีพิเศษ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างสถานศึกษากับสถานศึกษาในระดับต่างๆ เช่น ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อช่วยเหลือและพึ่งพากันและกันในเรื่องครูผู้สอน หลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การประเมินผล เป็นต้น  และร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย (http://blog.eduzones.com/applezavip/32036)    

สถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อในประเทศไทย
               ห้องเรียนขงจื่อ ก่อตั้งขึ้นโดยโรงเรียนมัธยมสาธิตเทียนจิน ประเทศจีน และโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากพระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร  และประธานห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาภาษาจีนของเยาวชน  นอกจากนั้นห้องเรียนขงจื่อแห่งนี้ก็ยังได้รับการอนุมัติให้เป็นห้องเรียนขงจื่อแห่งแรกของโลก จากสำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ (Hanban) จึงทำให้ห้องเรียนขงจื่อแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีนสำหรับเยาวชนชาวไทยและผู้ที่สนใจทั่วไป
(http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000013354)
                นอกจากนี้ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กับสถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดตั้งห้องเรียนขงจื้อในประเทศไทย ว่า รัฐบาลจีนจะให้ความช่วยเหลือประเทศไทยจัดตั้งห้องเรียนขงจื่อแห่งแรกของโลกคือ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2549  และต่อมามีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  จำนวน 5 แห่ง และโรงเรียนเอกชนอีก 5 แห่ง รวมทั้งหมด 11 แห่ง เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย ที่ผ่านมา การเรียนภาษาจีนได้รับความนิยมอย่างมาก เฉพาะโรงเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขยายเปิดสอนภาษาจีนอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน มีโรงเรียนเปิดสอนภาษาจีนไม่น้อยกว่า 500 โรง มีผู้เรียนไม่น้อยกว่า 2 แสนคน และรัฐบาลจีนได้ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยส่งเสริมการสอนภาษาจีนมาตลอด ไม่ว่า จะเป็นการอบรมพัฒนาครูสอนภาษาจีน การส่งครูอาสาจากประเทศจีนมาช่วยสอนภาษาจีนในโรงเรียนประถมและมัธยมด้วย
                สำหรับรายชื่อโรงเรียนที่เป็นห้องเรียนขงจื่อ ได้แก่ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย  ห้องเรียนขงจื่อแห่งแรกของโลก  และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย   โรงเรียนนวมินทราชินูทิศหอวัง นนทบุรี  โรงเรียนลำปางกัลยาณี  โรงเรียนระยองวิทยาคม  โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย  โรงเรียนจิตรลดา  โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ โรงเรียนช่องฟ้าซินเซิงจังหวัดเชียงใหม่  โรงเรียนสว่างบริบูรณ์ จังหวัดชลบุรี  โรงเรียนศรีนคร จังหวัดสงขลา

หลักสูตรภาษาจีนในโรงเรียนมัธยมศึกษา
                โรงเรียนรัฐบาลระดับมัธยมศึกษาเปิดภาษาจีนเป็นวิชาเพิ่มเติม 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือกิจกรรมชุมนุม  สำหรับโรงเรียนที่มีความพร้อมจะเปิดเป็นแผนการเรียนให้นักเรียนเลือกเรียน   บางโรงเรียนเน้นการเรียนภาษาจีนเน้นสาระการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์กับนักเรียน และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต ประจำวัน   มีการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นเวลา 78 คาบ  (ไม่รวมการสอบวัดผลก่อนและหลังการเรียน)  มีการเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมกับครอบครัวเพื่อนชาวจีน มีการท่องเที่ยวในสถานที่ที่เป็นที่นิยม ทั้งชาวจีน และชาวต่างชาติ  บางโรงเรียนทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการศึกษาต่อในประเทศจีน จัดรายการวิทยุภาษาจีนในโรงเรียน จัดการติวเข้มและการทดลองสอบวัดระดับความรู้ทางด้านภาษาจีน      เป็นต้น (http://th.hanbanthai.org/?cat=30)  ปัจจุบันโรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัยเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาจีนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  เรียนภาษาจีนสัปดาห์ละ 8 ชั่วโมง และเปิดห้องเรียนพิเศษภาษาจีนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเรียนภาษาจีนสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง
                ปัจจุบันเริ่มมีผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลาน เรียนต่อโรงเรียนมัธยมในจีนกันมากขึ้น ข้อดีที่ชัดเจนคือการเรียนภาษาจีน ที่สามารถฝึกได้อย่างเป็นธรรมชาติ และสร้างความมั่นใจในการสื่อสารภาษาจีนได้ตลอดชีวิต รวมทั้งค่าเรียน ค่าครองชีพที่ไม่ต่างจากบ้านเรา และหลักสูตรที่เข้มข้น โดยเฉพาะ ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา รวมถึงการปลูกฝังคุณธรรมอันดีงามแนวตะวันออกในด้านความกตัญญู ขยัน อดทน และหนักแน่น เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการเรียนการสอนของจีน (http://www.wisdomhouse.co.th/high_school/)

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
                ในการจัดการศึกษาของประเทศไทยนั้น กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายในการศึกษาระดับต่าง ๆ สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการโดยได้ประกาศเรื่อง การกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ตามที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) .. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) .. ๒๕๕๓ กำหนดให้มีเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา นั้น และได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ และมาตรา ๓๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓).. ๒๕๕๓ และมาตรา ๘ และมาตรา ๓๓ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.. ๒๕๔๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒) .. ๒๕๕๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำ ของสภาการศึกษาเมื่อคราวประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.. ๒๕๕๓ จึงกำหนดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อบริหารและจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๔๒ เขต (http://kormor.obec.go.th/promugate/prom044.pdf) สำหรับกรุงเทพมหานครมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 2 เขต  แยกออกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ซึ่งมีเพียง 1 เขต เนื่องจากจำนวนโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่จำนวนน้อยกว่า

บทสรุป
                จากที่กล่าวมาในเบื้องต้นเห็นได้ว่าแนวโน้มการเรียนการสอนภาษาจีนมีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประชาคมอาเซียน ในปีพุทธศักราช 2558 ที่จะมาถึงนี้  เพราะประเทศจีนอยู่ในกลุ่มอาเซียน + 3  ด้วยเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี จึงจำเป็นต้องใช้ภาษาจีนนอกเหนือจากภาษากลางของอาเซียนในการติดต่อสื่อสารกันและกันในการดำเนินธุรกิจ การลงทุนในด้านต่าง ๆ และแม่กระทั่งในเรื่องของการศึกษา  โรงเรียนหรือบุคลากรครูในหมู่ประเทศอาเซียนก็จะถ่ายเทไปมาหาสู่ถึงกันหมด และสามารถที่จะประกอบอาชีพทางด้านศึกษาในประเทศหมู่สมาชิกด้วยกันได้โดยมีข้อจำกัดน้อยลง  จึงเห็นได้ว่า “ภาษาจีน” จะมีอิทธิพลมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้  จำเป็นที่วงการศึกษาของประเทศไทยเราต้องตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเข้มข้นและเอาจริงเอาจัง

เอกสารอ้างอิง


รณพล  มาสันติสุข. 2551. การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยระดับชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษา.
 สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น